เราคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับเด็กๆ หรือลูกหลานที่เอามือถือไปเล่นเกมและมีการเติมเกมโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว เพราะมีการเชื่อมบัญชี หรือ บัตรเครดิตไว้กับเกมนั้นๆ ซึ่งพอใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตมาตอนสิ้นเดือนเป็นลมทันที ทุกวันนี้ เกมมือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ตามมาคือ “การเติมเกม” หรือซื้อของในเกม (In-App Purchases) ที่อาจทำให้เสียเงินเกินจำเป็นได้ บทความนี้จะแนะนำ 7 วิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันลูกหลานของคุณไม่ให้เติมเกมจนฟุ้งเฟ้อหรือหมดตัว และอาจเป็นหนี้บัตรเครดิตเพราะเรื่องนี้
7 วิธี เทคนิค สำหรับการป้องกัน ไม่ให้เงินรั่วไหลเพราะเติมเกม
1. รู้จักเกมที่ลูกหลานเล่น
ก่อนจะให้ลูกโหลดเกม ควรศึกษาก่อนว่าเกมนั้นมีระบบเติมเงินไหม เกมบางเกมดูเหมือนเล่นฟรี แต่จริงๆ อาจมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อไอเท็มหรือผ่านด่านง่ายขึ้น การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปกครองตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้วนั้น Roblox น่าจะเป็นเกมที่มีการเล่นกันสูงสุด และหากโตขึ้นมาหน่อยก็น่าจะเป็นเกม Free Fire
อ่านต่อ: Roblox ออกกฎป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เล่นเกมที่ยังไม่ได้จัด Rate
2. พูดคุยเรื่องเงินกับลูก
อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเงินในเกมไม่ใช่เงิน “ปลอม” การซื้อไอเท็มหรือเติมเกมคือการใช้เงินจริง คุยให้ลูกเห็นคุณค่าของเงิน และสอนให้คิดก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งเด็กเล็กมักไม่เข้าใจในเรื่องค่าของเงิน จากข้อมูลของ Busykids.com พบว่า เด็กจะเริ่มรู้จักในการใช้จ่ายมากขึ้นในระยะ 6-9 ขวบ (Smart Shopping Habits) แต่อย่างไรก็ดี เด็กๆ มักจะเริ่มต้นเล่นเกมก่อนหน้านั้น
3. ตั้งงบสำหรับการเติมเกม
ถ้าคุณอนุญาตให้ลูกเติมเกมได้ กำหนดงบที่ชัดเจน เช่น สัปดาห์ละ 100 บาทหรือเดือนละ 300 บาท และต้องยึดตามงบนี้อย่างเคร่งครัด การตั้งงบช่วยให้ลูกเรียนรู้การบริหารเงิน ซึ่งเกมบางเกม ยกตัวอย่าง Roblox จะมีการทำ Subscription เป็นรายเดือนไปเลย (หากมีงบประมาณ) จะได้ไม่ต้องผูกบัตรใดๆกับเกมเอาไว้ เพื่อเติมเพิ่ม
4. เลือกเกมที่ไม่มีระบบเติมเงิน หรือ ใช้ Parental Control
บางเกมสามารถเล่นได้เต็มรูปแบบโดยไม่มีการเติมเงิน คุณอาจเลือกเกมเหล่านี้ให้ลูก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเติมเงินเกินความจำเป็น และอีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้ระบบ Parental Control ซึ่งจะมีใน Android และ iOS สามารถไปหาวิธีการตั้งค่าได้
5. ปิดการเติมเงินอัตโนมัติในมือถือ
ทั้งระบบ iOS และ Android มีฟีเจอร์ที่ช่วยป้องกันการเติมเงินโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ตั้งรหัสผ่านหรือปิดการเติมเงินโดยสิ้นเชิง คุณสามารถตั้งค่าเหล่านี้เพื่อความปลอดภัย
6. สร้างกติกาเกี่ยวกับการเล่นเกม
กำหนดกติกาให้ชัดเจน เช่น เล่นเกมวันละกี่ชั่วโมง และสามารถเติมเงินได้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น วันเกิดหรือวันสอบผ่าน วันศุกร์ หรือ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่เล่นเกมพร่ำเพรื่อจนเกินไป ให้ทำกิจกรรมอื่นๆบ้าง การตั้งกติกาจะช่วยควบคุมการเล่นเกมให้เป็นระเบียบ
7. สอนให้ลูกสนุกกับเกมโดยไม่ต้องเติมเงิน
ลองหาวิธีทำให้ลูกสนุกกับเกมโดยไม่ต้องพึ่งการเติมเงิน เช่น เล่นเพื่อท้าทายตัวเอง สะสมแต้มจากการเล่น หรือร่วมสนุกกับเพื่อน วิธีนี้จะช่วยลดความอยากเติมเกมและประหยัดเงิน
การป้องกันลูกหลานเติมเกมเกินตัวไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญคือการเข้าใจและพูดคุยกับลูก รวมถึงการตั้งข้อจำกัดที่เหมาะสม เพราะนอกจากช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังช่วยให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้เงินในอนาคตอีกด้วย